รู้ทัน ป้องกันได้  6 โรคยอดฮิตที่มาพร้อมกับฝนนนนน !

ช่วงนี้ประเทศไทยก็ได้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เคยสังเกตไหมว่าเมื่อมีฝน ต้องมีคนไม่สบายเนื่องจากอากาศเย็นลงและมีความชื้นในอากาศมากขึ้น วันนี้เรามารู้จักกับ 6 โรค ที่ชอบมากับหน้าฝนกันว่ามีโรคอะไรบ้าง?

 

  1. โรคไข้เลือดออก
    เกิดจาก เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำเชื้อโรคสู่คน เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่มี ฝนตก น้ำท่วมขัง สภาพอากาศชื้นแฉะ มีน้ำขังตามภาชนะที่วางทิ้งเอาไว้นอกบ้าน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ทำให้การขยายพันธุ์ของยุงเกิดมากในช่วงนี้ ซึ่งก่อให้เกิดมีจุดเลือดขึ้นตามร่างกาย ไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย
  2. โรคอาหารเป็นพิษ
    ในน้ำฝนมีการปนเปื้อนเชื้ออีโคไล ซึ่งอาหารสดที่เราซื้อมาจากตลาดอาจได้รับเชื้อที่มากับละอองฝน ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษลำไส้อักเสบติดเชื้อ และเกิดความผิดปกติในระบบย่อยอาหารตามมา เช่นอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
  3. โรคมือเท้าปาก
    ในช่วงหน้าฝนเช่นนี้ นอกจากโรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ในเด็กเล็กแล้ว โรคมือเท้าปาก ยังเป็นอีกโรคหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาด โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ที่อาศัยอยู่ในลำไส้คน ทั้งทารกและเด็กเล็กมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่ายและรุนแรงมากกว่าเด็กโต ในประเทศไทยมักพบในสถานรับเลี้ยงเด็กและในโรงเรียนอนุบาล สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ และน้ำในตุ่มพองของผู้ป่วย โดยเข้าทางปากโดยตรง หรืออาจติดมากับมือ ของเล่น ไอ จาม รวมไปถึงการใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกัน
  4. โรคตาแดง
    เนื่องจากในฤดูฝนนั้น เชื้ออดีโนไวรัส (Adenovirus) เจริญเติบโตได้ดีในช่วงนี้และแฝงตัวอยู่ในน้ำสกปรกหรือฝุ่นที่ปลิวเข้าดวงตาจนทำให้เกิดโรคตาแดงได้ เกิดจากการสัมผัสขี้ตาหรือน้ำตาของผู้ป่วยโดยตรง การใช้ของใช้ร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการไอ จาม หายใจรดกัน ทำให้เกิดอาการเคืองตา  น้ำตาไหล  ขี้ตาเยอะ  เปลือกตาบวม  ต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต
    ในบางรายอาจพบการอักเสบของกระจกตาร่วมด้วย เนื่องจากไวรัสลามไปที่กระจกตาหรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
  5. โรคผิวหนัง น้ำกัดเท้า จากเชื้อรา
    เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคขี้กลาก นั่นคือ เชื้อราในสายพันธ์ุ Dermatophytes โดยเชื้อราชนิดนี้จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่เปียกชื้น โดยเฉพาะรองเท้าที่ลุยน้ำท่วม เมื่อเราใส่รองเท้าที่มีเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตอยู่จะทำให้เกิดโรคน้ำกัดเท้านั่นเองนอกจากนี้เชื้อราชนิดนี้ยังสามารถติดเชื้อได้จากการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น รองเท้า ถุงน้ำ ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ซึ่งเชื้อราชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะในส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย
  6. โรคฉี่หนู
    เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะอย่างหนู สุนัข สุกร ม้า เป็นต้น ซึ่งจะปนเปื้อนในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยเข้ามาสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่มีบาดแผล หรือรอยขีดข่วนหากต้องลุยน้ำหรือแช่ในน้ำนาน รวมถึงอาจเข้ามาทางเยื่อบุตา จมูก ปากได้เช่นกัน หากไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ 

 

ในช่วงฤดูฝน ควรระมัดระวังและดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่มาพร้อมกับฤดูกาลนี้ การรักษาความสะอาดของร่างกายและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นสิ่งสำคัญ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง และควรสวมใส่เสื้อผ้าที่แห้งและสะอาดอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิดก็เป็นวิธีที่ดีในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในช่วงฤดูฝนอีกด้วย

“ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพและมีความสุขในทุกๆ วันของฤดูฝนนี้ค่ะ”